ประวัติศูนย์ เมื่อปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีโครงการจะขยายงานของมูลนิธิฯ ออกสู่ภูมิภาคโดยขอความร่วมมือและสนับสนุนจากบุคคลในท้องถิ่น เข้าร่วมดำเนินงาน ส่วนมูลนิธิฯ มีหน้าที่จัดหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อตั้งศูนย์ฯ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ
พ.ศ. 2529 ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา ของมูลนิธิฯ ก็ได้ดำเนินการเป็นครั้งแรกโดยเปิดเป็นศูนย์ชั่วคราว ที่บ้านเลขที่ 194 ถนนนครใน อำเภอเมือง จังหวัด สงขลา ซึ่งเป็นของ ดร. รัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ได้อนุญาต ให้ใช้สถานที่ และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ โดยได้ทำพิธีเปิดศูนย์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2529 และทางมูลนิธิ ฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ ดร. รัตน์ ประธานราษฎร์-นิกร เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์ และถือเป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิฯ ที่จะร่วมเฉลิม-พระเกียรติ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบอีกด้วย
วันที่ 27 สิงหาคม 2530 ได้มีการวางศิลาฤกษ์อาคารถาวรของศูนย์บนที่ดิน 10 ไร่ ณ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมี ฯพลฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธาน โดยตั้งชื่ออาคารหลังแรกของศูนย์ว่า “ธารน้ำใจใต้ร่มพระบารมี”
วันที่ 21 กรกฎาคม 2531 การก่อสร้าง อาคาร และปรับปรุงสถานที่เสร็จ ก็ได้ย้ายนักเรียนจากศูนย์ฯ ชั่วคราว ไปเรียนที่อาคารถาวรของศูนย์ฯ
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2531 ได้ทำพิธีเปิดอาคาร “ธารน้ำใจใต้ร่มพระบารมี” อย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพลฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานอีกครั้ง
คุณประพันธ์ สาณะเสน คหบดีชาวไทยในปีนัง มีกุศลจิต ที่จะสนับสนุนกิจการของศูนย์ฯ ได้บริจาคเงินก่อสร้างอาคารถาวรเพิ่มเติมให้อีกหลัง ใช้ชื่อว่า “อาคารสาณะเสน” และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534
ที่ผ่านมาทาง ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา ได้รับความสนับสนุนและความร่วมมือจาก
1. แม่ทัพภาคที่ 4 ได้จัดสรรที่ดิน ณ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประมาณ 10 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ
2. มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้ความสนับสนุนทางด้านการเงินและด้านวิชาการ
3. คุณประพันธ์ สาณะเสน บริจาคเงินสร้างอาคารเรียน 1 หลัง เป็นเงิน 3,850,000.- บาท
ซึ่งใช้ชื่อว่า “อาคารสาณะเสน” และเงินสมทบกองทุน ซึ่งเป็นเงินดอกผลอีก 400,000.- บาท
4. โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ ประสานงาน และ ร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ฯ
5. หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา
6. ผู้มีจิตศรัทธา
ดร.รัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ผู้ก่อตั้ง ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา
คุณรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร เกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ณ บ้านเลขที่ 223 ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของ หลวงประธานราษฎร์นิกร และ นางสมบูรณ์ ประธานราษฎร์นิกร
การศึกษา ท่านเริ่มเรียน ชั้นประถมศึกษา - มัธยมต้น ณ โรงเรียนวรนารีเฉลิมจนจบมัธยมต้น (ม.3) แล้วเดินทางไปศึกษาต่อ ม.4 - ม.7 ณ โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพมหานคร และเรียนต่อ ม. 8 ที่สวนสุนันทา เมื่อจบ ม. 8 แล้ว ก็สอบคัดเลือก เข้าศึกษาต่อ ในคณะบัญชีและพาณิชย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบปริญญาตรี ทางการบัญชี ได้วุฒิทางการศึกษา (บช.บ) ซึ่งสมัยนั้น คนที่จบปริญญาตรีทางบัญชี น้อยมาก หน่วยราชการและวงการธนาคาร มีความต้องการเป็นอย่างมาก แต่ท่านตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่สงขลา มาทำงานด้านธุรกิจกับ บิดา - มารดา
ท่านเริ่มงานธุรกิจ ได้เข้าสู่สังคมที่กว้างขวาง ท่านได้เห็นความเป็นอยู่ ของคนยากจนซึ่งมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะนักเรียน คนเจ็บไข้ได้ป่วยทุพพลภาพ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นอนาคตของชาติทั้งสิ้น ด้วยจิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม และจิตกุศล ท่านจึงได้เริ่มสละทรัพย์ส่วนตัวของท่านที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ให้คนที่ยากจน และขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะเยาวชนในวัยศึกษาเล่าเรียน คนเจ็บป่วยในโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งบุคคลปัญญาอ่อน
ท่านได้บริจาคทรัพย์เพื่อช่วยสาธารณกุศลมากมาย เช่น
1. การทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ร่วม ในการสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ตามวัดต่าง ๆ
2. การสาธารณสุข ได้ตั้งมูลนิธิ ในโรงพยาบาลสงขลา เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยขาดแคลนในโรงพยาบาลเสมอมา และตั้งกองทุนให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลหาดใหญ่ และได้ร่วมบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนในโรงพยาบาล ต่าง ๆ เสมอมา
3. ด้านการศึกษา คุณรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ได้เล็งเห็นความสำคัญทางการศึกษาโดยเฉพาะเยาวชน ท่านจึงได้ทุ่มเท ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ ให้กับการศึกษาตลอดมา โดย ได้เป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิ ให้กับสถานศึกษา ต่าง ๆ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา รวมทั้งสิ้น 13 แห่ง
นอกจากนี้ ยังรับเป็นผู้อุปการะโรงเรียน กรรมการศึกษา กรรมการบริหารโรงเรียน ผู้พิพากษาสมทบ ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ตลอดจนเป็นประธานกรรมการมูลนิธิในสถานศึกษา ต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา และยังร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิ ช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรม-ราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา
ด้วยคุณงามความดีต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างสมมาเป็นเวลาช้านาน ล้วนแต่เป็นสิ่งสร้างสรรค์จรรโลง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้อนุมัติปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชนให้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2534 และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อนุมัติ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ คณะบริหารธุรกิจจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2534
ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา ได้ขอจัดตั้งเป็น โรงเรียนเอกชนประเภทการศึกษาพิเศษ กลุ่ม ก มาตรา 15 (3) ได้รับอนุญาต เมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม 2535 โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา”
ในวโรกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ คณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการบริหารศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา จึงพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวาย โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา เพื่อเป็นพระราชกุศล โดย คณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการของศูนย์ฯ ได้เข้าเฝ้า แด่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 4 เมษายน 2536 และหลังจากที่ได้ทรงรับมอบ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญาไว้แล้ว ก็ได้ทรงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ รับไปดำเนินการจัดการศึกษาเป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดกองการศึกษาพิเศษกรมสามัญศึกษาต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นโรงเรียนรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536
ต่อมาผู้บริหารของโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ขอใช้พื้นที่ของศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อน ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ที่เหลืออยู่บางส่วนเพิ่มขึ้น ทำให้การดำเนินงานไม่สะดวก เนื่องจากอาคารสถานที่ไม่พร้อม จึงต้องหาที่ดินเพื่อก่อสร้างศูนย์แห่งใหม่ และได้รับความเมตตาจาก นายวิทยา สิทธิรักษ์ บริจาคที่ดินบริเวณ ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จำนวน 26 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา และพิจารณาเห็นว่าควรจัดสร้างเป็นศูนย์ให้บริการด้านการฝึกทักษะและฝึกอาชีพ แก่ผู้พิการทางด้านสติปัญญา และเป็นศูนย์นำร่องเพื่อขยายบริการให้ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ โดยจัดสร้างอาคารศูนย์ฝึกทักษะและอาชีพ อาคารสิริกิติยาทร แห่งใหม่ ณ ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เพื่อให้บริการฝึกทักษะและอาชีพแก่ผู้พิการทางสติปัญญา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดอาคารพร้อมทอดพระเนตรห้องฝึกพูด และห้องกายภาพบำบัด